วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

post ข่าว

เขาพระวิหารเป็นมรดกโลกแล้ว! ยูเนสโกชี้ขาดคำขอขึ้นทะเบียน

โดย คม ชัด ลึก
วัน อังคาร ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 00:00 น.


คณะกรรมการมรดกโลกประกาศให้ปราสาทพระวิหารของกัมพูชาเป็นมรดกโลกพร้อมตั้งกรรมการจาก 7 ปท. รวมทั้งไทย บริหารจัดการร่วมกับกัมพูชา สารพัดม็อบกดดัน"นพดล" รับผิดชอบ ศาล รธน.ชี้ขาดแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา เข้าข่าย ม.190 หรือไม่ 8 ก.ค. ด้าน ผบ.สส.อัดด่วนสรุปกรณีต่างชาติหนุนเขมรเพราะไทยปฏิวัติ
ในที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 32 ที่เมืองควิเบกประเทศแคนาดา ประกาศให้ปราสาทพระวิหารของประเทศกัมพูชาเป็นมรดกโลกแล้ว โดยเมื่อเวลา 23.09 น. สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า คณะกรรมการพิจารณามรดกโลกขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ได้ประกาศให้ปราสาทพระวิหารของกัมพูชาอายุนับพันปีเป็นมรดกโลก พร้อมกับเมืองเมลากา และเมืองจอร์จ ทาวน์ เมืองที่อยู่ติดช่องแคบมะละกาในมาเลเซีย และเขตเกษตรกรรมคุก เออร์ลีในปาปัวนิวกีนี ซึ่งนับเป็นพื้นที่แรกของประเทศที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก กรรมการมรดกโลกหนุนกัมพูชา นายปองพล อดิเรกสาร ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ให้สัมภาษณ์จากเมืองควิเบกว่า คณะกรรมการมรดกโลก 21 ประเทศมีเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารตามที่กัมพูชาเสนอ เพราะเข้าหลักเกณฑ์ 1 ใน3 ข้อสำหรับทางออกของไทย คณะกรรมการมรดกโลกจะตั้งคณะกรรมการจาก 7 ประเทศโดยมีไทยร่วมด้วย เข้ามาบริหารจัดการร่วมกับกัมพูชา ส่วนการพัฒนาพื้นที่พิพาทนั้น ไม่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการมรดกโลก เพราะว่าการขึ้นทะเบียนทำเฉพาะแค่องค์ปราสาทเท่านั้น "การพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร จากเดิมถูกจัดเป็นวาระพิจารณาลำดับที่ 4 แต่ได้เลื่อนเป็นลำดับท้ายสุดเพื่อให้ไทยและกัมพูชาได้มีเวลาหารือกันโดยไทยยังยืนยันในการขอเลื่อนการพิจารณาตามที่นายนพดลได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบ และประเด็นที่สองไทยยังยืนยันที่จะเสนอให้ขึ้นทะเบียนร่วมกัน เพื่อทำให้ความเป็นมรดกโลกสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คณะกรรมการมรดกโลกได้ให้น้ำหนักกับคำชี้แจงของฝ่ายไทย จากก่อนหน้านี้มีการแจกเอกสารแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา แต่เมื่อมีการแจ้งเรื่องคำสั่งของศาลปกครองกลาง ก็มีการเรียกเก็บเอกสารดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนขึ้น โดยคณะกรรมการมรดกโลกใช้รายงานของสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ หรืออิโคโมส ในการพิจารณา ซึ่งการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจะต้องผ่านการพิจารณา 1 ใน6 ข้อที่กำหนดไว้และกัมพูชาได้ผ่านหลักเกณฑ์ข้อ 1 แล้วโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาความร่วมมือจากไทย" นายปองพลกล่าว นายปองพลกล่าวต่อว่าคณะกรรมการมรดกโลกยังเสนอทางออกให้แก่ไทย โดยให้เสนออุทยานปราสาทพระวิหารและพื้นที่ป่าสมบูรณ์เทือกเขาพนมดงรักซึ่งอยู่ในเขตไทยและให้สำรวจจัดทำข้อมูลแหล่งโบราณสถานในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อขอเสนอเป็นมรดกโลกให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามที่ไทยส่งหนังสือการคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองให้คณะกรรมการมรดกโลกได้พิจารณา ซึ่งที่ประชุมแจ้งว่า ได้รับทราบ แต่การจะให้เลื่อนการพิจารณาปราสาทพระวิหารออกไปคงไม่ได้ เพราะได้เลื่อนมาครั้งหนึ่งแล้ว นายปองพลกล่าวอีกว่าในการประชุมครั้งนี้มีกลุ่มคนไทยในแคนาดามาชูป้ายประท้วงนายนพดล กรณีกระทำไม่เหมาะสมเรื่องปราสาทพระวิหารด้วยโดยไม่ได้มีการยื่นหนังสือแต่อย่างใด ชี้รมว.ต่างประเทศต้องรับผิดชอบ ม.ล.วัลย์วิภาจรูญโรจน์ นักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะกลุ่มประชาชนไทย กล่าวว่า หากคณะกรรมการมรดกโลกมีมติขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา ก็จะต้องมีการเคลื่อนไหวต่อให้รัฐบาลยกเลิกแถลงการณ์ร่วมที่นายนพดลทำไว้กับกัมพูชา เพราะหากไม่ยกเลิกแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน โดยจะกระทบพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารที่เป็นฝั่งไทย แม้จะขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทก็ตาม ม.ล.วัลย์วิภากล่าวว่ารัฐบาลต้องเร่งพิจารณาอย่างรวดเร็วแล้วว่าจะยกเลิกอย่างไร โดยเฉพาะนายนพดลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งกรมแผนที่ทหารที่เข้าไปแถลงรับรอง ก็ต้องร่วมรับผิดชอบ ส่วนยูเนสโกที่ไม่มีหนังสือตอบภาคประชาชนที่ยื่นเรื่องคัดค้าน แสดงเห็นว่ายูเนสโกเพิกเฉยต่อความคิดเห็นของประชาชนชาวไทยซึ่งน่าตำหนิมาก ด้านนพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หากคณะกรรมการมรดกโลกมีมติขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารโดยกัมพูชาฝ่ายเดียว สิ่งที่จะเคลื่อนไหวในส่วนของนักวิชาการและภาคประชาชนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ต้องดำเนินการในทางระหว่างประเทศ ซึ่งมีหลายช่องทางที่จะทำหนังสือไปสอบถามเหตุผลว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทอย่างเดียวถือว่าไม่สมบูรณ์ จึงต้องการเหตุผลจากคณะกรรมการมรดกโลก และ 2.ในส่วนการเคลื่อนไหวในประเทศ เรื่องแถลงการณ์ร่วม ต้องทำให้ไม่มีผล ถ้ามีผลให้เสียดินแดน ครม.และนายนพดลต้องรับผิดชอบ
ศาลรธน.ชี้ขาด ม.190 วันที่ 8 ก.ค. วันเดียวกันคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีนายชัช ชลวร เป็นประธาน มีการพิจารณาคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของ ส.ว. 77 คนและคำร้องของประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ส่งความเห็นของ ส.ส. 151 คนเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ว่าคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 เป็นหนังสือสนธิสัญญาตามรัฐธรรมนูญมาตรา190 วรรคสองซึ่งต้องรับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่ นายไพบูลย์วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาคือ นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศเข้าชี้แจงด้วยตนเอง และเสนอเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มีการอภิปรายและนัดอภิปรายด้วยวาจา เพื่อนำไปสู่การลงมติในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้เวลา 08.30 น. ทั้งนี้ การพิจารณาของคณะตุลาการฯ เป็นการวินิจฉัยภายในกรอบอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้ไว้ ไม่ได้มีการนำปัจจัยอื่น เช่น เรื่องที่คณะกรรมการมรดกโลกกำลังพิจารณาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารมาร่วมพิจารณาด้วย ส่วนที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี กล่าวพาดพิงถึงสถาบันตุลาการนั้น นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครอง กล่าวว่า ไม่ขอพูดอะไรในเรื่องนี้ ถึงเวลาค่อยพูด เพราะไม่มีประโยชน์อะไรที่จะตอบโต้กัน จะเป็นการละเมิดศาลหรือไม่ต้องพิจารณา ส่วนจุดยืนต่อสถานการณ์ทางการเมืองนั้น คือ ศาลต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพราะศาลอยากให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย ม็อบบุกบ้าน นพดล หวิดวางมวย เมื่อเวลา10.30 น. วันที่ 7 กรกฎาคม กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จ.นครราชสีมา กว่า 200 คน นำโดยนายอิทธิ ขวัญอุดมพร ได้เดินทางด้วยรถกระบะ 9 คัน และรถบรรทุกหกล้อ 1 คัน ไปยังบ้านเลขที่ 79 หมู่ 3 บ้านแฝก ต.สามเมือง อ.สีดา จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นบ้านของนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และปัจจุบันบ้านหลังดังกล่าวมีนางสำเนียง ปัทมะ พี่สาวของนายนพดลอาศัยอยู่ ทันทีที่กลุ่มพันธมิตรลงจากรถ ก็นำป้ายข้อความโจมตีนายนพดลออกมาเพื่อประท้วง ทันใดนั้น นายสุนทร ปะวะขัง กำนันตำบลสามเมือง ได้ประกาศผ่านหอกระจายข่าวเรียกชาวบ้านในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียงออกมาต่อต้าน และขับไล่กลุ่มพันธมิตรออกไป ทำให้ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน จากนั้นชาวบ้านทยอยมารวมตัวกันประมาณ300 คน ส่วนกลุ่มพันธมิตรมีประมาณ 200 คน มีการตะโกนต่อว่ากันไปมา โดยกลุ่มชาวบ้านยื่นคำขาดว่าภายในเวลา 30 นาที ให้กลุ่มพันธมิตรออกจากหมู่บ้านไป ถ้าไม่เช่นนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัย ต่อมาตำรวจ สภ.สีดา และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สามเมือง ได้เข้ามาห้ามและเกลี้ยกล่อมให้กลุ่มพันธมิตรออกจากหมู่บ้านไปก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลาย เพราะมีชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านกำลังเดินทางรวมตัวที่บริเวณดังกล่าวมากขึ้น แต่กลุ่มพันธมิตรพยายามจะฝ่าวงล้อมของประชาชนไปยังบ้านนายนพดลให้ได้ จึงทำให้เกิดการชุลมุน ยื้อยุดผลักกันไปมา นายอิทธิเห็นท่าไม่ดีจึงพากลุ่มพันธมิตรขึ้นรถถอยออกจากหมู่บ้านไปตั้งหลักอยู่ที่ทำการ อบต.สามเมือง แต่กลุ่มชาวบ้านส่วนหนึ่งได้ขับรถยนต์บรรทุกชาวบ้านตามไปไล่ กลุ่มพันธมิตรจึงหนีไปอย่างรวดเร็ว นายอิทธิ กล่าวว่าการเดินทางมาครั้งนี้เพื่อต้องการเรียกร้องให้ญาติพี่น้องของนายนพดล ไปเกลี้ยกล่อมให้นายนพดลลาออกจากตำแหน่ง รมว.การต่างประเทศ เพราะทำให้ไทยเสียประโยชน์กรณีเขาพระวิหาร
ไม่สนคำตัดสินม็อบยันปักหลักต่อ ที่จ.ศรีสะเกษ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุขุม วงศ์ประสิทธิ์ ผู้ประสานงานสหธรรมมิกเพื่อประชาธิปไตย หรือขบวนการธรรมยาตราทวงคืนเขาพระวิหาร-มณฑลบูรพา ที่ปักหลักทวงคืนเขาพระวิหารบนอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร กล่าวว่า แม้ว่าผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจะออกมาอย่างไร จะมีการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกหรือไม่ ก็จะปักหลักทวงคืนอธิปไตยต่อไป เพราะประเด็นการขึ้นทะเบียนมรดกโลกไม่ใช่ประเด็นหลักของกลุ่มเรียกร้อง เนื่องจากประเด็นหลักคือการทวงคืนปราสาทพระวิหาร และที่ผ่านมาพบว่ามีชาวกัมพูชากว่า 500 หลังคาเรือน ปักหลักอาศัยอยู่ในเขตแดนของไทย ถือเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของไทยอย่างชัดเจน ต้องมีการผลักดันให้กองทัพออกมาดำเนินการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 พร้อมทั้งจะระดมสมาชิกเพื่อทวงคืนพื้นที่เขาพระวิหารเพิ่มขึ้นอีก ทหารพรานนายหนึ่งที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยประตูเหล็กทางขึ้นเขาพระวิหาร สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 23 กล่าวว่า ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่เขาพระวิหารมานานกว่า 10 ปี รู้จักมักคุ้นกับชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่แถบนี้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาก็พูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบกันเรื่อยมา แม้มีคำสั่งให้มีการปิดประตูเหล็กทางขึ้น ก็เป็นแค่เพียงการปิดประตูเท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ทั้งสองฝ่ายยังคงแน่นแฟ้น และยอมรับว่ารู้สึกลำบากใจหากในอนาคตรัฐบาลมีคำสั่งให้มีการผลักดันชาวกัมพูชาออกนอกพื้นที่บริเวณทางขึ้น ส่วนความเคลื่อนไหวของชาวกัมพูชาหลังม่านประตูเหล็กก็มีการดำเนินชีวิตกันตามปกติ บางรายก็จับกลุ่มนั่งเล่นไพ่กันอย่างสนุกสนาน โดยไม่สนใจการปิดเปิดของประตู เพราะส่วนใหญ่ชินกับเหตุการณ์ปิดเปิดประตู เพราะที่ผ่านมามีคำสั่งปิดเปิดประตูทางขึ้นเขาพระวิหารมาแล้วหลายครั้ง ขณะที่บรรยากาศอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารเป็นไปอย่างเงียบเหงาไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาชมเหมือนช่วงที่ผ่านมา คงมีเพียงทหาร เจ้าหน้าที่อุทยาน และแม่ค้าที่ขายสินค้าอยู่บริเวณลานจอดรถเท่านั้น โดยแม่ค้าบางรายระบุว่า แทบจะไม่ได้ขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวเลย แต่ยังดีที่ได้ขายสินค้าให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และกองทัพนักข่าวที่มาทำข่าวเขาพระวิหารแทน ผบ.สส.อัด ปองพล สรุปง่ายเกินไป พล.อ.บุญสร้างเนียมประดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) กล่าวถึงกรณีที่นายปองพลระบุว่าเรื่องปราสาทพระวิหารขาดความต่อเนื่อง เพราะประเทศไทยเกิดการปฏิวัติว่า ปัญหาพวกนี้ดูไปก็ซับซ้อน ถ้าพูดแบบนี้อาจจะทำให้สับสน และสรุปอะไรที่ง่ายเกินไป บางคนก็อาจจะต้องตกเป็นจำเลยของสังคม โดยที่ไม่ได้คิดอย่างดี ไม่อยากพูดอะไรให้ลงลึกขนาดนั้น และไม่ได้ผู้รับผิดชอบโดยตรง เมื่อถามว่านายปองพลออกมาอ้างว่า ประเทศมหาอำนาจสนับสนุนกัมพูชา เพราะไทยมีการปฏิวัติ พล.อ.บุญสร้างกล่าวว่าไม่ทราบ เพราะไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับกองทัพโดยตรง ต้องมีความเชื่อมั่นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพราะเขาต้องศึกษา ในการพูดจาอะไรต้องระมัดระวัง ต้องเชื่อมั่นจนกว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าเชื่อมั่นไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง หากปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะกระทบต่อความสัมพันธ์ของสองประเทศหรือไม่พล.อ.บุญสร้างระบุว่าถ้าประชาชนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ผลกระทบก็จะไม่มาก แต่หากนำไปสู่ความแตกแยก หรือใช้ความรุนแรงซึ่งกันและกัน ผลกระทบก็จะมีมากมาย ทุกอย่างอยู่ที่ความรู้สึกของคน ส่วนเรื่องการรักษาความปลอดภัยของคนไทยในกัมพูชา ได้ประสานงานและดูแลกันอยู่แล้ว ซึ่งผู้นำของกัมพูชาก็สามารถพูดกันได้ เขาเข้าใจปัญหาเหมือนกัน ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า เรื่องปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องละเอียดอ่อน รัฐบาลของ 2 ประเทศ ต้องเป็นผู้แก้ปัญหาในการหาข้อยุติ ส่วนเรื่องของประชาชนคิดว่า ประชาชนทั้ง 2 ประเทศต้องมีความเข้าใจในเรื่องของความสัมพันธ์ของบ้านเมือง ประเทศที่อยู่ติดกันต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะเราต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติ รวมทั้งการใช้กลไกกฎหมายแก้ปัญหาในส่วนนี้โดยกลไกของรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์กล่าวอีกว่ามีการประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ตำรวจในการรักษาสถานการณ์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ไม่ให้เกิดปัญหาหรือความรุนแรงเกิดขึ้น ขณะนี้ในพื้นที่มีการดำเนินการ คาดว่าไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น อภิสิทธิ์ จี้ ครม.เผยมติ พระวิหาร ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ที่มีแนวโน้มว่ากัมพูชาจะขอจดทะเบียนได้ฝ่ายเดียวว่า คงต้องย้อนกลับมาดูว่าความรับผิดชอบควรจะเป็นของใคร ไม่ว่าจะเรื่องเกี่ยวกับการปกครองหรือกฎหมาย ตนได้มอบหมายให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.กทม. ดูข้อกฎหมายและกำลังเตรียมการอยู่หากพิจารณากฎหมายอาญา เบื้องต้นนายนพดลมีความชัดเจนที่สุด เพราะเป็นผู้ไปลงนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากรายงานทางวิชาการ ข้อเสนอของกัมพูชาอ้างอิงการไปลงนามของนายนพดลในวันที่ 22 พฤษภาคมก็คงปฏิเสธไม่ได้ ส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) คงต้องมาดูอีกที เพราะการตรวจสอบค่อนข้างยาก จนถึงวันนี้ ครม.ก็ยังไม่เปิดเผยมติครม.ที่เกี่ยวข้องว่าถ้อยคำเป็นอย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น: